sisli escort ">

สาระน่ารู้

ลมพิษ

ลมพิษ

ผิวหนัง
มีลักษณะเป็นผื่นนูน แดง คัน เริ่มต้นจากจุดเล็กๆค่อยๆลามออกในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ผื่นมักจะมีขนาดต่างๆกัน แต่ละผื่นมักปรากฎไม่เกิน 24-48 ชั่วโมง แล้วจะค่อยๆหายไปเองโดยไม่ทิ้งร่องรอยเดิมไว้ ผื่นอาจขึ้นที่เดิม หรือขึ้นที่ใหม่ ได้ (รูป) อาการจะเป็นๆหายๆ หากเป็นนานไม่เกิน 6 สัปดาห์จะเรียกว่าลมพิษชนิดฉับพลัน หากเป็นนานเกิน 6 สัปดาห์จะเรียกว่าลมพิษเรื้อรัง ในบางรายนอกจากมีผื่นแล้ว อาจมีอาการบวมร่วมด้วย เช่นอาการบวมที่หนังตา ริมฝีปาก มือ กล่องเสียง ทางเดินหายใจ ลมพิษพบได้ทุกเพศทุกวัย ประมาณร้อยละ 15 ของประชากรจะมีครั้งหนึ่งในชีวิตที่เป็นลมพิษ
 
สำหรับสาเหตุของลมพิษ อาจเป็นได้หลายสาเหตุเช่น
1. ยาบางชนิด เช่น ยากลุ่ม เพนิซิลลิน ยาซัลฟา ยาแก้ปวดบางชนิด
2. แมลงกัดต่อย เช่น ยุง หมัด ไร ผึ้ง มด หากเป็นยุง หมัด ไร อาการมักไม่ค่อยรุนแรง แต่หากเป็นผึ้งต่อยหรือมดบางชนิดกัด อาการอาจรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้
3. อาหารและสิ่งปนเปื้อนในอาหาร ที่พบได้บ่อยคืออาหารทะเล นอกจากนี้ยังอาจพบได้ในถั่ว ไข่ ช็อคโกแลต นม เนย  สีผสมอาหาร สารกันบูด ลมพิษนี้อาจพบภายหลังรับประทานอาหารเพียงไม่กี่นาทีจนถึงหลายชั่วโมงได้
4. การติดเชื้อบางชนิด เช่น ฟันผุ การติดเชื้อของโพรงจมูก ช่องคอ ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร ทางเดินปัสสาวะ รวมทั้งพยาธิบางชนิด 
5. สิ่งสูดดมที่ปลิวมาในอากาศ เช่น ละอองเกสรดอกไม้ ฝุ่น ขนสัตว์
6. สิ่งสัมผัสผิวหนัง เช่น สารเคมี เครื่องสำอาง เครื่องประดับ ขนสัตว์
7. ความร้อน ความเย็น แสงแดด การสั่นสะเทือน การกดทับ น้ำ การเกาหรือการขีดข่วนที่ผิวหนัง ซึ่งกลุ่มนี้เรียกว่าลมพิษทางกายภาพ
8. เกิดร่วมกับโรคภายในบางชนิด เช่น ทัยรอยด์ โรคไวรัสตับอักเสบ 
9. ไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งเป็นสาเหตุได้บ่อยในกรณีลมพิษเรื้อรัง 
 
การดูแลรักษา
1. สังเกต และจดบันทึก ลักษณะอาการ เวลาที่เกิด อาหารที่รับประทาน สารเคมีที่สัมผัส เพื่อจะช่วยค้นหาสาเหตุของลมพิษ
2. หากเป็นไม่มาก อาจรับประทานยาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการ
3. หากเป็นมากหรือเป็นเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัย และให้การรักษาที่ถูกต้อง
4. หากมีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน